สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์ใหม่ว่าด้วยโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ Government Token (G-Token) เพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในการออมและลงทุนได้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการระดมทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 โดยการออก G-Token ถือเป็นการกู้เงินรูปแบบใหม่ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการหลัก
4 ประเด็นสำคัญของเกณฑ์ G-Token ที่ควรรู้
- กำหนดสถานะของ G-Token:
G-Token จะถูกระบุเป็น "โทเคนดิจิทัล" ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยมีสิทธิในการได้รับคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ถือเป็นเครื่องมือใหม่ในการระดมทุนของรัฐผ่านเทคโนโลยี Blockchain - ไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายแบบ ICO:
การเสนอขาย G-Token ไม่ต้องยื่นขออนุญาตกับ ก.ล.ต. ไม่ต้องยื่นแบบฟอร์ม หรือร่างหนังสือชี้ชวน และไม่จำเป็นต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal เช่นเดียวกับพันธบัตรหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ออกโดยภาครัฐ - ยกเว้นใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการ:
ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange), ผู้ค้าสินทรัพย์ (DA Dealer) และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเพิ่มสำหรับการให้บริการเกี่ยวกับ G-Token โดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายหลักทรัพย์ - ออกกฎกำกับบริการอย่างรัดกุม:
มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า การรวบรวมและประเมินข้อมูลผู้ลงทุน การเปิดเผยราคาประเมิน (indicative price) รวมถึงกติกาเฉพาะสำหรับ DA Exchange เกี่ยวกับการทำสัญญา การเปิดเผยข้อมูล และการลงทุนใน G-Token
การเปิดทางให้รัฐสามารถออกโทเคนดิจิทัลได้ภายใต้กรอบที่โปร่งใสและมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน จะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
อ้างอิง : sec.or.th