Bitcoin Addict เปลี่ยนเว็บไซต์ใหม่เป็น www.bitcoinaddict.com
GENIUS Act ของสหรัฐฯ กำลังเขย่าวงการ Stablecoin ด้วยการวางแนวทางใหม่ที่ชัดเจน โดยหันเหออกจากรูปแบบที่ให้ผลตอบแทน (yield-bearing) และเน้นไปที่การใช้งานในชีวิตจริง เช่น การชำระเงินข้ามพรมแดนและธุรกรรมรายวัน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Mastercard, PayPal, Amazon และ Walmart
Fabian Dori ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนจาก Sygnum ให้สัมภาษณ์กับ Cointelegraph ว่า
“GENIUS Act ถูกปรับแก้เพื่อแยกแยะระหว่าง Stablecoin ที่ให้ดอกเบี้ยกับ Stablecoin ที่ใช้เพื่อการชำระเงินอย่างชัดเจน”
เขาเสริมว่า นี่ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้กรอบกฎหมายของสหรัฐฯ เข้าใกล้กฎ MiCA ของสหภาพยุโรปมากขึ้น และน่าจะนำไปสู่ “ฉันทามติระดับโลก” ในอนาคต
Dori ชี้ว่า ผลกระทบที่แท้จริงของ GENIUS Act ไม่ใช่แค่เรื่องข้อกำหนด แต่คือ “ความชัดเจน” ที่ทำให้ผู้พัฒนาและผู้ออกเหรียญกล้าสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะแอปที่ตอบโจทย์ชีวิตจริง เช่น การจ่ายเงินรายวัน หรือระบบโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันที
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนควรมองไปที่กองทุนตลาดเงินแบบโทเคน ซึ่งให้ผลตอบแทน 4–5% จากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยไม่ปะปนกับการใช้งานเชิงธุรกรรม
Jason Lau ผู้บริหารฝ่ายนวัตกรรมของ OKX กล่าวว่า
“วันนี้ Stablecoin ที่เน้นการใช้งานกำลังชนะ Stablecoin ที่เน้นให้ผลตอบแทน”
เขาเชื่อว่า ผู้ให้บริการจะหาทางพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเร่งการใช้งานจริง เช่น การโอนแบบเรียลไทม์ ค่าธรรมเนียมต่ำ และการตั้งโปรแกรมธุรกรรม
Aishwary Gupta หัวหน้าฝ่ายการชำระเงินของ Polygon Labs ก็เห็นด้วยว่า “เทรนด์นี้เริ่มขึ้นก่อน GENIUS Act แล้ว” และยืนยันว่า พวกเขาเห็นปริมาณการใช้ Stablecoin เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในระบบไมโครเพย์เมนต์ที่เติบโต 67% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน มูลค่ารวมทะลุ $110 ล้าน
Polygon ยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมในแอฟริกา ที่มีผู้ใช้งานมือถือกว่า 185 ล้านเครื่อง เพื่อให้บริการชำระเงินข้ามประเทศแบบ B2B ด้วย Stablecoin
Gupta ระบุว่า ธุรกรรมขนาดเล็กมูลค่า $100–$1,000 เพิ่มขึ้น 190% เป็นกว่า $563 ล้านในช่วงเวลาเดียวกัน
Dori ย้ำว่า การใช้งานจริงในระดับผู้บริโภค (Retail adoption) คือกุญแจสำคัญ ไม่ใช่แค่การผลักดันจากบริษัทฟินเทค
“สิ่งที่ขับเคลื่อนตลาดจริง ๆ คือคนทั่วไป ไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำ ๆ อย่างเดียว”
Polygon ก็วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานแบบนี้ โดยสามารถรองรับได้มากกว่า 100,000 ธุรกรรมต่อวินาที พร้อมค่าธรรมเนียมต่ำระดับเศษเซนต์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในแอปพลิเคชันจริงได้ทั่วโลก
Lau ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าโปรโตคอล DeFi จะได้ประโยชน์จากกรอบกฎหมายใหม่นี้มากที่สุด เพราะ Stablecoin เป็นแกนกลางของกิจกรรมบนเชนจำนวนมากอยู่แล้ว และด้วยความชัดเจนนี้ จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ เช่น การสร้างกลไกให้ผลตอบแทนแบบโทเคนธรรมาภิบาล (Governance Token) โดยไม่ผิดกฎหมาย
อ้างอิง : cointelegraph.com
ภาพ sygnum.com